ขวดน้ำพลาสติกใช้ซ้ำๆ เสี่ยงมะเร็งจริงหรือ?
ปัจจุบันเห็นหลายครอบครัวนำขวดน้ำอัดลมหรือขวดน้ำเปล่าที่ทำจากพลาสติก มากรอกน้ำแช่ตู้เย็นเอาไว้ดื่มซ้ำแล้วซ้ำอีก จากข้อมูลที่ส่งต่อกันทางอินเทอร์เน็ตบ้างก็ว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง บ้างก็ว่าไม่เป็นอันตรายอะไรหรอก เพราะหลายสถาบันในต่างประเทศก็ออกมาการันตีว่ามีความปลอดภัย ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี
เพื่อให้ผู้อ่านหายข้องใจ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ อธิบายว่า ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วใช้อีกอันตรายจริง โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต เมื่อโดนเย็นจัดหรือร้อนจี๋หรือการขบกัดขูดขีดกระแทก จะทำให้มีสารก่อมะเร็งกลุ่ม BPA (Bis – phenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพลาสติกออกมา
ซึ่งจากงานวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่าเพียง 3 – 4 ส่วนในล้านส่วนก็ก่อมะเร็งในหนูทดลองได้ ที่ซูเปอร์มาร์เกตในแคนาดาจึงออกกฎเตือนว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องปิดฉลากเตือนไว้ และถ้าเป็นเครื่องบริโภคบางอย่างถึงขนาดห้ามใช้พลาสติกเลยทีเดียว
แต่ที่ทางการบ้านเรายังไม่ตื่นเต้นก็เพราะว่า ยังเป็นผลการวิจัยว่าเกิดมะเร็งในระดับสัตว์ทดลองและมีปริมาณสารพิษไม่มาก แต่อย่าลืมว่าถ้าเลี่ยงๆ ไว้ก่อนได้ก็จะดีกว่ารออีก 10 ปีมีงานวิจัยออกมาบอกว่าคนก็เป็นมะเร็งได้ซึ่งไม่มีประโยชน์เสียแล้ว
และอย่าลืมอีกข้อที่สำคัญคือ ถึงแม้มี BPA ปริมาณน้อยจากขวดพลาสติก แต่อย่าลืมว่าวันหนึ่งเราดื่มน้ำจากขวดพลาสติกกันหลายรอบทีเดียว เวลาเบรกจากประชุมหรือสัมมนาแต่ละทีก็ดื่มกันอึกอัก ไปแวะกินข้าว ก่อนกลับบ้านก็ดื่มอีกขวดหนึ่ง วันหนึ่ง 3 – 4 รอบบ่อย ๆ เข้าก็มี BPA สะสมได้นะครับ ทั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้ตื่นตระหนกจนห้ามใช้พลาสติก เพียงแต่ให้ตระหนักไว้ก่อนและพยายามลดการใช้ไว้ก่อนจะดีกว่า
นพ.กฤษดา กล่าวว่า ลักษณะการใช้ที่ทำให้เสียชีวิตเร็วมีดังนี้
1. ขวดพลาสติกหรือแก้วพลาสติกเอามาใช้แล้วใช้อีก
2. วดพลาสติกที่กระทบกระแทกขูดขีดไปมาจากการทิ้งไว้ในรถยนต์
3. ขวดพลาสติกที่โดนความเย็นจัดต่ำกว่าศูนย์หรือร้อนจัดมาก เช่น ใส่น้ำต้มกาแฟหรือใส่เข้าไปในไมโครเวฟ
4. กล่องโฟมพลาสติกและพลาสติกใส (Wrapper) ห่ออาหารเข้าไมโครเวฟก็ต้องระวัง
5. ขวดนมเด็กพลาสติก เพราะมีโอกาสที่สารนี้หลุดปนออกมาจากการที่เด็กอมขบกัดพลาสติก
6. ของเล่นตุ๊กตาพลาสติกราคาถูกและเครื่องใช้พลาสติกตามตลาดนัด มักทำจากพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องเติมสารพิเศษให้พลาสติกเสถียรซึ่งสารนี้ก่อมะเร็งได้
7. อาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง เช่น ในนมวัวที่มาจากวัวกินหญ้าปนเปื้อนยาฆ่าแมลง จะมีสารซีโนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนมรณะทำให้เด็กสาวโตไว มีหน้าอกได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 3 ขวบ
วิธีหนีให้ไกลจากอันตรายในพลาสติก คือ
1. ใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก
2. ใช้จานชามกระเบื้องหรือหม้อกระเบื้องเคลือบแทน
3. รณรงค์ให้ใช้วัสดุอินทรีย์แทนพลาสติก เช่น ใบตอง ห่อผัดไทยใช้เชือกกล้วยผูกหิ้ว
4. ขวดน้ำพลาสติกอย่าทิ้งไว้ในรถหรืออย่านำกลับมาใช้ใหม่
5. อย่าใช้ความร้อนสูงหรือใช้ความเย็นจัดกับภาชนะพลาสติก เช่น เอาไปใส่ในไมโครเวฟหรือใสไว้ในช่องแช่แข็ง
6. อย่าให้ภาชนะกระทบกระแทก หรือขูดขีดมาก ระวังไม่ให้เด็กอมขวดหรือกัดพลาสติกเล่น
7. ในแต่ละวันจำกัดการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกไว้ไม่ให้มากเกินไป ไม่ใช่ประชุมกัน 4 รอบก็กินเบรกแกล้มกับดื่มน้ำขวดพลาสติกทุกครั้ง อาจใช้แก้วกาแฟรองน้ำเปล่าดื่มบ้างก็ได้
อย่างไรก็ตามสำหรับขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ทำมาจากพลาสติกโพลิเอทีลีน เทอเรพทาเลท หรือ PET ที่มีความปลอดภัยสูง ความโปร่งใสแข็งแรงทนทาน เหนียว ไม่แตกง่าย แต่เพื่อความปลอดภัยก็ไม่ควรที่จะนำมาใช้ซ้ำๆ นานๆ ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์