เซซามิน จากเมล็ดงาและรำข้าว สู่เม็ดเงินและสุขภาพที่ดี
ประเทศไทยจะไม่สามารถอ้างว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากค่าแรงงานราคาถูกกว่าของเรา ดังนั้น เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผลผลิตจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ร่วมกับทรัพย์สินทางปัญญางานวิจัยงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล เช่น เราไม่ควรคิดเพียงแต่จะส่งข้าวเปลือกและข้าวสารออกไปต่างประเทศเท่านั้น แต่เราจะต้องนำข้าวมาแปรรูปโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัย ทำให้ได้เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อแข่งขันกับนานาชาติให้ได้ เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด เป็นการสร้างนวัตกรรมที่ครบวงจร จากแปลงปลูกโดยเกษตรกรสู่ตลาดโลกผ่านงานวิจัยและวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืน และได้ประโยชน์ในทุกระดับชั้นของการพัฒนาตรงตามนโยบายของรัฐบาล
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน คืองานวิจัยที่ได้ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ข้าวสีนิล หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ และงา ซึ่งได้มีการทำการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร โดยคณะผู้ทำงานที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ เป็นหัวหน้าโครงการ ตั้งแต่มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวที่เป็นออร์แกนิกส์ การรับซื้อวัตถุดิบข้าวเปลือกและงาจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่สูง จากนั้น นำมาเตรียมเป็นรำข้าวสีนิล แป้งข้าว และงาผงไขมันน้อยโดยการหีบเย็นโดยเกษตรกร และโรงสีท้องถิ่นซึ่งอยู่ในระดับ 1.0 วัตถุดิบที่ได้นำมาจัดเตรียมโดยการใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมแบบง่ายๆ เช่น เครื่องหีบเย็นน้ำมันงา หรือเครื่องสีข้าว และเครื่องจักรเพื่อการบรรจุ จะอยู่ในระดับ 2.0 ซึ่งจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เมื่อนำมาต่อยอดโดยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และใช้เครื่องมือชั้นสูงในการวิจัย วิเคราะห์และพัฒนา เพื่อให้ได้องค์ความรู้เพื่อเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
โดยการจดสิทธิบัตรสูตรอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาการผลิตที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และเทคโนโลยีการตลาด จะอยู่ในระดับ 3.0 ซึ่งจะทำให้ได้นวัตกรรมอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพ ภายใต้คำพูดที่ว่า “กินอาหารเป็นยา” ทำให้มีมูลค่าเพิ่มเป็น 100 เท่า จากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นสามารถนำเข้าสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้อย่างทั่วโลก ซึ่งเป็นระดับการพัฒนาเป็น 4.0 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลาย 1000 เท่าจากราคาเริ่มต้น และในที่สุดถึงมือผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์ในการดูแล ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นภาระให้กับการสาธารณสุข ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และประหยัดงบประมาณอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าวนี้ สามารถประยุกต์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และทรัพย์สินทางปัญญา มาทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมทุกระดับชั้น ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ นักการตลาด และผู้บริโภค ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดรายรับ รายจ่าย และภาษีอากรต่างๆ หมุนเวียนเป็นวงจรที่ยั่งยืน
บทความโดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ