6 อาหารดี ลดคอเลสเตอรอล
เมื่อกล่าวถึง “คอเลสเตอรอล” มิใช่จะไม่ดีไปเสียทั้งหมด เพราะคอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท แบบที่เป็นคอเลสเตอรอลดี (HDL) ที่มาจากน้ำมันกอก หรือปลาทะเล และคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ที่มาจากไขมันสัตว์
80% ของคอเลสเตอรอลไม่ได้มาจากอาหาร แต่มาจากการผลิตของตับ มีเพียง 20% ที่มาจากอาหารที่เรารับประทานกันเข้าไป แต่ถึงกระนั้นการเลือกรับประทานคอเลสเตอรอลดีมากกว่า และลดอาหารที่ก่อให้เกิดคอเลสเตอรอลไม่ดี ก็จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้มาก
ภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือดสูงอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากคอเลสเตอรอลบางส่วนมีความสำคัญกับร่างกาย ทำได้เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหาร โดยสุดยอดอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดี ได้แก่
1. ถั่ว และธัญพืช
ไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ หรือธัญพืชอย่างข้าวโอ๊ต ลูกเดือย และอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายได้เช่นกัน
2. ขนมปัง และข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี
ข้าวกล้อง ข้าวแดง ข้าวซ้อมมือ รวมไปถึงขนมปังโฮลวีต นอกจากจะช่วยลดคอเลสเตอรอลแล้ว ยังมีกากใยอาหารที่ช่วยชะลอการดูดซึมของน้ำตาล เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และยังช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารดีขึ้น
3. ผลไม้รสหวานน้อย ที่ทานได้ทั้งเปลือก
โดยปกติแล้วผลไม้มีใยอาหารที่ดีต่อการช่วยลดคอเลสเตอรอลอยู่แล้ว แต่หากผลไม้ชนิดนั้นมีน้ำตาลสูงเกินไป ก็ให้โทษแก่ร่างกายด้วยเช่นกัน เช่น ทุเรียน ลำไย เงาะ ดังนั้นควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ถ้าเลือกทานได้ทั้งเปลือกได้ก็จะยิ่งดี เพราะเป็นการเพิ่มกากใยอาหารให้กับระบบย่อยอาหาร และบางผลไม้ วิตามินอยู่ที่เปลือกบางๆ ข้างนอกมากกว่าเนื้อในผลเสียอีก เช่น แอปเปิ้ล มะเขือเทศ ฝรั่ง สาลี่ ชมพู่ เป็นต้น
4. ผักใบเขียว
ผักอะไรก็ได้ที่เขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บล็อกโคลี่ ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือดได้มากเช่นกัน แถมยังมาพร้อมใยอาหารที่ดีต่อร่างกาย
5. หอม กระเทียม
ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ลดระดับไขมัน และคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
6. มะเขือ
ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มะเขือเปราะ หรือมะเขือพวง ก็มีวิตามินซีที่ช่วงป้องกันโรคหวัด บำรุงผิวพรรณ และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ดี
นอกจากนั้นยังมี “รำข้าว” ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า คุณประโยชน์ของสารแกมมาโอไรซานอล (Gamma Oryzanol) ที่มีอยู่ในน้ำมันรำข้าวที่มีงานวิจัยรองรับมากที่สุดและมีความเป็นไปได้ที่จะให้ประโยชน์ทางการแพทย์ คือ “ความสามารถในการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล” โดยสารแกมมาโอไรซานอล จะลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร ทำให้ลดปริมาณการได้รับคอเลสเตอรอลลง