ความรู้คู่สุขภาพ

การอักเสบ…ร้ายกว่าที่คุณคิด รู้ทัน..จัดการได้

การอักเสบ (Inflammation) เป็นกลไกทางธรรมชาติ ที่พยายามในการปกป้องตนเองของร่างกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการสิ่งกระตุ้นที่เป็นอันตราย เช่น เชื้อโรค เซลล์ที่เสื่อมสภาพ หรือสารระคายเคือง ออกจากร่างกายและเข้าสู่กระบวนการรักษาซ่อมแซม

การอักเสบไม่ใช่ การติดเชื้อ แม้ว่าการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบ การติดเชื้อเกิดจากจุลชีพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เข้ามาก่ออันตรายแก่ร่างกายในขณะที่การอักเสบคือการตอบสนองของร่างกายเพื่อต่อต้านจุลชีพก่อโรคต่างๆ

การอักเสบเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองที่มีประโยชน์ของภูมิคุ้มกันในร่างกาย หากไม่มีการอักเสบเกิดขึ้น เชื้อโรคจะไม่ถูกกำจัดออกไปและแผลจะไม่ถูกรักษาให้หาย ซึ่งอาจเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อมากขึ้นจนอันตรายถึงชีวิตได้ เรื่องการอักเสบ

หากยกตัวอย่างง่ายๆ หลายๆ คนคงเคยเดินสะดุดหกล้มเป็นแผล ตอนนั้นเราจะมีอาการปวด แผลบวมแดง จับดูจะรู้สึกร้อนนิดๆ เวลาผ่านไปสักระยะอาการเหล่านี้ลดลงพร้อมๆ กับแผลก็เริ่มหาย อันนี้เราเรียกว่า ‘กระบวนการอักเสบแบบเฉียบพลัน’ ซึ่งช่วยการหายของแผล กำจัดเชื้อโรค เป็นผลดีกับร่างกาย

ในทางตรงข้ามการการอักเสบก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น และดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายจนมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไข้ละอองฟาง, ข้ออักเสบ รูมาทอยด์, หลอดเลือดหัวใจ, เบาหวานม, อัลไซเมอร์ หรือแม้แต่มะเร็ง ดังนั้น การอักเสบจึงควรถูกควบคุมให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

นักวิจัยพบว่าการอักเสบเรื้อรังส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอาหารแบบ SAD (Standard American Diet) คืออาหารสไตล์อเมริกันที่น้ำตาลสูง มีไขมันแปลงรูปหรือไขมันทรานส์สูง (Trans fat) ที่พบในกลุ่มเบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ แครกเกอร์ โดนัท แฮมเบอร์เกอร์ เนยเทียม อาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ

SAD เป็นอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 6 สูง (โอเมก้า 6 พบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง ที่มักใช้มาปรุงอาหาร) มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่ำ (โอเมก้า 3 พบในปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน แมคเคอเรล ทูน่า แฮริ่ง แอลบาคอร์)

“การอักเสบเรื้อรังทำให้อ้วน และการมีไขมันสะสมมากก็ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง” ฟังเหมือนวงจรชั่วร้าย เกิดกลับไปกลับมา!!!

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเซลล์ไขมันจะสร้างสารเคมีแห่งการอักเสบออกมาตัวหนึ่งก็คือ CRP ซึ่งทำให้ร่างกายและสมองของเราดื้อต่อฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำหนัก

ตัวแรกคือ ‘เลปติน (Leptin)’ เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่บอกให้รู้ว่าคุณอิ่มแล้ว หากเกิดภาวะดื้อเลปติน ทำให้กินเยอะ กินแล้วอิ่มยาก

ตัวที่สองคือ ‘อินซูลิน (Insulin)’ การอักเสบเรื้อรังจะเข้าไปรบกวนการทำงานของอินซูลิน โดยปกติอินซูลินทำหน้าที่เก็บน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าเซลล์ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าเกิดภาวะดื้ออินซูลินคือ อินซูลินในเลือดสูง อินซูลินที่สูงจะยับยั้งการสลายไขมัน ทำให้มีไขมันสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีไขมันสะสมที่หน้าท้อง พุงใหญ่ขึ้น ตามมาด้วยโรคเบาหวาน

อาหารต้านการอักเสบเรื้อรัง (Anti-inflammatory foods) คือ อาหารที่มีน้ำตาลต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันแปลงรูปหรือไขมันทรานส์ (trans fat) ลดกรดไขมันโอเมก้า 6 แล้วเสริมกรดไขมันที่ดีมีประโยชน์คือโอเมก้า 3 จากปลาทะเลน้ำลึก จากธัญพืช พยายามรับประทานเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ปีกให้น้อย การรับประทานของหวานเน้นเป็นผลไม้หวานน้อยหรือน้ำตาลต่ำ ลดของหวานแบบเค้ก คุ้กกี้ เบเกอรี่ และไอศกรีม

ส่วนใหญ่น้ำตาลมาจากการรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มแป้งขัดขาว ขนมปังขาว ข้าวสวย ควรหันมารับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีใยอาหารมาก ทำให้ย่อยผ่านระบบทางเดินอาหารอย่างช้าๆ น้ำตาลค่อยๆ ปลดปล่อยสู่กระแสเลือดทีละน้อย เช่น ขนมปังโฮลวีท 100% ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช แอปเปิ้ล

ผู้เชี่ยวชาญพบว่าอาหารที่ลดการอักเสบได้ดีที่สุดคือ กลุ่มอาหารที่ประกอบไปด้วยผักสด โฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด โยเกิร์ต ปลาทะเลน้ำลึก แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน เน้นไขมันที่ดีจากน้ำมันสกัดเย็นที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3-6-9 ช่วยต้านการอักเสบ

หันมาใส่ใจกับอาหารต้านการอักเสบเรื้อรัง เพื่อลดสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ กันนะ…