ความรู้คู่สุขภาพ

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ในปัจจุบัน คนนิยมทานอาหารเสริมกันมากขึ้น เพราะเรามักไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง บางคนทานอาหารไม่ตรงเวลา บางคนพักผ่อนไม่เพียงพอ บางคนก็เลือกทานอาหารง่าย ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ จนทำให้เกิดส่งผลเสียกับร่างกายตามมา

ถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายก็เริ่มรับไม่ไหว เกิดความผิดปกติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ โรคนอนไม่หลับ โรคอ้วน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่ง โรคมะเร็งซึ่งมีอัตราคนป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

การรับประทานยา ก็ต้องระวังเรื่อง side effect หรือผลข้างเคียง ทานยามากเกินไปก็อาจมีปัญหากับไตได้ หรือบางครั้งทานยาเพื่อรักษาโรคหนึ่งแต่กลับทำให้เป็นโรคอีกโรคหนึ่งได้ หลายคนจึงหันมาพึ่งพาอาหารเสริม เพื่อให้เข้าไปทดแทนในสิ่งที่ขาดหายไป

แต่ด้วยความที่อาหารเสริมนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้น จนแทบดูไม่ออกว่าแตกต่างอย่างไร บางชนิดก็มีสรรพคุณครอบจักรวาล จึงกลายเป็นที่มาของคำถามว่า หากจะซื้ออาหารเสริมสักชนิด แค่ดู อย.อย่างเดียว เพียงพอหรือไม่ ?

ดู อย. อย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป

ถึงแม้จะมีข้อบังคับว่า อาหารเสริมที่ผลิตภายในประเทศ หรือนำเข้ามา จะต้องทำการขออนุญาตจาก อย. (สำนักคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อตรวจสอบ และประเมินถึงความปลอดภัยของส่วนประกอบเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่อาหารเสริมทุกชนิดจะมี อย. และในขณะนี้ก็พบการปลอมฉลาก อย. เยอะมาก ซึ่งเกิดจากการใช้ส่วนประกอบที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค การจะดูฉลาก อย. อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการยืนยันความปลอดภัยของอาหารเสริมแล้ว ต้องมีการนำเลขอย. ไปตรวจสอบกับทางเว็บไซต์ของ อย. ด้วยว่า ตัวเลขที่ติดอยู่ที่ฉลาก เป็นผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกับที่ทำการขออนุญาตหรือไม่

นอกจาก อย. แล้ว ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อสรุป ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไว้ 9 ข้อดังนี้

1. คุณค่ามากกว่าโฆษณา

การเลือกซื้อหรือกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องดูที่คุณค่า มากกว่าคำโฆษณาชวนเชื่อหรือพรีเซ็นเตอร์ เพราะ สิ่งที่เข้าไปในร่างกาย คือสารอาหารที่กิน ไม่ใช่คำโฆษณา หรือคนที่เป็นพรีเซ็นเตอร์

2. ผลิตภัณฑ์ คืออะไร

ผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อใช้หรือกิน คืออะไร? ต้องศึกษาให้ละเอียด ไม่ใช่ซื้อโดยที่ไม่ทราบว่าคืออะไร เพียงแต่กินหรือใช้ตามคนอื่น

3. ทำมาจากอะไร?

ต้องศึกษาว่าทำมาจากอะไร มีข้อมูลเอกสารยืนยันชัดเจน ไม่ใช่กิน หรือใช้โดยไม่ทราบว่ามันคืออะไร กินหรือใช้เพราะว่าเป็นของจากต่างประเทศ

4. แหล่งผลิตที่ชัดเจนตรวจสอบได้

ต้องทราบที่มาว่าผลิตจากที่ใด มีมาตรฐานอย่างไร ตรวจสอบที่มาที่ไปได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศควรมีเอกสารยืนยัน

5. ส่วนผสมสำคัญอย่างไร?

ส่วนประกอบที่สำคัญต้องทราบว่าคืออะไร จัดเตรียมมาจากอะไร โดยกระบวนการใด มีความบริสุทธิ์มากน้อยอย่างไร

6. ส่วนประกอบที่สำคัญ

ออกฤทธิ์ หรือมีคุณสมบัติอย่างไรทางวิทยาศาสตร์ ที่มีเอกสารยืนยัน ที่ไม่ใช่คำโฆษณา หรือจากบุคคลที่ไม่มีการยอมรับ

7. งานวิจัยรองรับ สนับสนุน

ส่วนประกอบที่สำคัญ ต้องมีงานวิจัยสนับสนุนเป็นเอกสารที่ชัดเจน ไม่ว่าจะจากนักวิจัยภายในและนานาชาติ ไม่ใช่จากคำอ้างอิงลอยๆ หรือเพียงแต่บอกต่อๆกันมา ควรมีสิทธิบัตรรองรับด้วย

8. เอกสารแจ้งจดจากทางการ

ควรมีเอกสารแจ้งจบ จากหน่วยงานของรัฐบาล ของประเทศที่วางจำหน่าย และ/หรือ ประเทศผู้ผลิตที่สามารถแสดงได้

9. ผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน

ผลิตภัณฑ์ต้องผลิตมาจากโรงงาน ที่ได้มาตรฐาน มีที่อยู่สามารถตรวจสอบได้ มีหนังสือรับรองมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่เชื่อถือได้

อะไรที่น้อยไปก็ไม่ดี และอะไรที่มากไปก็ไม่ดี อาหารเสริมก็เช่นกัน แค่พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็จะช่วยดูแลสุขภาพของคุณให้แข็งแรงไปได้อีกยาวนาน แต่สำหรับใครที่จำเป็นต้องทานอาหารเสริม ก็อย่าลืมพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ให้ดีก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและเพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพจากอาหารเสริมที่ทานเข้าไปมากที่สุดนั่นเอง

Related posts

Leave a Comment