ประโยชน์ของรสเปรี้ยว
รสชาติของอาหารมีหลายรสด้วยกัน อาทิเช่น รสเค็ม รสหวาน รสเผ็ด รสขม และรสเปรี้ยว ซึ่งในแต่ละรสชาติก็มีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันไป รสเปรี้ยวก็เป็นรสหนึ่งที่สร้างความจัดจ้านให้กับอาหารบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเมนูต้มยำหรือยำต่างๆ จนถึงกับหากขาดรสเปรี้ยวไป อาหารจานนี้จะหมดความอร่อยในทันที
รสเปรี้ยวมาจากแหล่งอาหารชนิดใด
1. รสเปรี้ยวที่มาจากอาหาร เป็นรสเปรี้ยวที่มาจากกรดธรรมชาติที่อยู่ในผักและผลไม้ เช่น มะนาว มะกรูด ส้ม มะขาม ส้มแขก ตะลิงปลิง มะดัน มะปริง มะยม มะพูด มะตาด มะม่วง มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะอึก ระกำ คอแลน และหมากค้อ เป็นต้น สำหรับในผักที่สามารถรับประทานได้ทั้งใบ เช่น ชะมวง ติ้ว ส้มป่อย กระเจี๊ยบแดง หรือมะกอก เป็นต้น โดยเราจะเรียกว่ากรดอินทรีย์ (Organic acid) ซึ่งกรดที่ได้คือกรดซิตริก (citric acid) กรดมาลิก (malic acid) และกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid)
2. รสเปรี้ยวที่มาจากสารสังเคราะห์ นั่นคือน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวเทียม ซึ่งมาจากการนำน้ำเปล่าผสมกับกรดซิตริกและสารแต่งกลิ่น สารป้องกันการตกตะกอน และสารกันบูด
ประโยชน์ของรสเปรี้ยวที่ได้จากผักและผลไม้ทั่วไป
การรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวบ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยรักษาหรือบรรเทาโรคบางชนิดได้ และมักพบสารสำคัญที่มีมากในรสเปรี้ยวคือวิตามินซี
1. การรักษาโรค
- มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ในด้านการปกป้องเซลล์ไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว สร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งช่วยป้องกันไม่ให้เลือดออกตามไรฟัน ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย หากรับประทานร่วมกับวิตามินอีจะยิ่งช่วยลดการเกาะตัวของไขมันที่อยู่ตามผนังหลอดเลือด
- มีประสิทธิ์ภาพสูงสำหรับการรักษาโรคที่มาจากไวรัส ถ้าเรานำน้ำมะนาวมารับประทานกับน้ำอุ่นจะช่วยในเรื่องของโรคหวัด ลดการไอ จาม ขับเสมหะ หรือนำมะนาวมารับประทานกับเกลือจะช่วยในการกัดฟอกเสมหะ
- ช่วยในด้านระบบขับถ่ายและระบาย อย่างเช่นมะขามต้มแล้วกรองเอากากออก จากนั้นเอาน้ำที่ได้มาดื่มจะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น
- ดับกระหายคลายร้อน ขับเมือกที่อยู่ในลำไส้ เช่น กระเจี๊ยบแดง
- กระตุ้นต่อมน้ำลาย เมื่อรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวเข้าไป วิตามินซีที่มีอยู่จะช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ขับน้ำลายออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงช่องปากมากขึ้น ส่งผลให้ลดอาการอักเสบหรืออาการบวมได้เร็วขึ้น
2. ด้านความงาม
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส ลดฝ้าและจุดด่างดำบนใบหน้า รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาสิว บำรุงตา เร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์ รักษาผิวที่แตกลาย ขาลาย หรือส้นเท้าแตกได้ ผลไม้บางอย่างที่มีรสเปรี้ยวอย่างเช่นมะนาวสามารถให้น้ำมันหอมระเหย เมื่อดมกลิ่นหอมแล้วทำให้ร่างกายสดชื่น
3. ประโยชน์ทั่วไป
- ป้องกันภัยจากสัตว์มีพิษต่างๆ นอกจากนี้รสเปรี้ยวยังมีฤทธิ์ช่วยย่อยสลายก้างปลา โดยให้นำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอย่างเช่นมะนาวมาอมแล้วค่อยๆ กลืน จะช่วยทำให้ก้างปลาอ่อนตัวแล้วหลุดร่วงลงไป จึงหายจากอาการติดคอได้
- ลบรอยเตารีดที่เป็นรอยบนเสื้อผ้าหรือน้ำหมึกเลอะบนเสื้อผ้าได้เช่นกัน
ประโยชน์ของรสเปรี้ยวที่ได้จากการสังเคราะห์
พบว่ามีประโยชน์ในด้านการถนอมอาหาร ทำให้เรามีอาหารรับประทานได้นานๆ และทดแทนในยามที่รสเปรี้ยวขาดแคลนหรือมีราคาแพงได้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ทางด้านการขจัดคราบสกปรกต่างๆ เป็นอย่างดี เช่น ขจัดคราบในตู้เย็น ทำความสะอาดถ้วยชา กาแฟ หรือกำจัดคราบบนกระทะ เป็นต้น
แต่ในด้านสุขภาพกลับพบว่าไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด หากเรารับประทานอาหารรสเปรี้ยวที่มาจากสารสังเคราะห์มากจนเกินไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร หรือทำให้มีอาการท้องเสียได้อีกด้วย
สำหรับการปรุงแต่งรสเปรี้ยวด้วยสารที่ให้รสเปรี้ยวทางธรรมชาติ ย่อมจะให้ประโยชน์มากกว่าการปรุงแต่งด้วยสารสังเคราะห์ อีกทั้งควรระมัดระวังการรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เราจึงจะได้ประโยชน์จากรสเปรี้ยวอย่างปราศจากโทษใดๆ อย่างแน่นอน